top of page
  • Black Facebook Icon
  • Black Instagram Icon
  • Youtube
  • Black Pinterest Icon

ตลับแปดเหลี่ยม 'ชิงไป๋' ลายช่อดอกไม้ปักแจกัน

  • รูปภาพนักเขียน: Artemis
    Artemis
  • 29 ธ.ค. 2566
  • ยาว 1 นาที


เครื่องถ้วยชิงไป๋(Qingbai)เป็นภาชนะเคลือบที่ผลิตมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง จนถึงราชวงศ์หยวน ซึ่งกำหนดโดยการเคลือบเซรามิกที่ใช้ โดยภาชนะชนิดนี้มีชื่อตามตัวคือ 'ชิง' แปลว่าสีขาว ส่วน 'ไป๋' แปลว่าสีฟ้าจาง (ต่อมาในยุคหลังมีบางกลุ่มนิยมเรียกเครื่องเคลือบชนิดนี้ว่า 'ยิ่งชิง' ที่แปลว่า สีฟ้าเงา)

ในประวัติศาสตร์มีการถกเถียงกันว่า 'ชิงไป๋' อาจเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกๆของจีนที่มีการผลิตจำนวนมาก เพื่อส่งออก และนั้นคือสาเหตุที่มีภาชนะเคลือบนี้กระจายอยู่ในหลายประเทศรวมถึงไทยด้วย แม้จะมีจำนวนมากแต่ไม่ใช่ว่าตลับชิงไป๋ทุกชิ้นจะได้รับการยกย่อง เพราะชิ้นที่เป็นที่นิยมของนักสะสมนั้นจะเป็นชิ้นที่มีสีฟ้าชิงไป๋แบบเด่นชัดและลายสลักก็ออกมานูนชัดเจน รวมถึงบางชิ้นที่มีลวดลายหายากและรูปแบบตลับที่ดีไซน์ออกมาได้อย่างโดดเด่นนั่นเอง


แม้ ชิงไป๋ ไม่เคยได้รับการอ้างถึงว่าผลิตขึ้นเพื่อใช้ในราชการหรือในวังหลวง แต่ทว่ามีหลักฐานจากตัวเครื่องถ้วยชิงไป๋เองที่พบเห็นเป็นจำนวนมากที่ยืนยันถึงความเป็นที่ต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศในฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงฟิลิปปินส์และไทย ตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือเป็นต้นมาและด้วยคุณภาพและความสวยงามของ ‘ชิงไป๋’เองได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชมของนักสะสมในอีกหลายศตวรรษถัดมาจนมาถึงปัจจุบัน และชิงไป๋ชิ้นที่สวยงามตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาได้รับการเรียกว่าหยิงชิง (Shadow Blue) หรือ "เงาสีฟ้า"

ในตอนปลายสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือมาถึงในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เครื่องถ้วยชิงไป๋ได้พัฒนาลวดลาย ด้วยการใช้วิธีแกะแม่พิมพ์(mould) กดประทับลงไปในเครื่องถ้วย ลวดลายที่ทำด้วยวิธีกดจากแม่พิมพ์นี้ อาจจะดูเหมือนมีของแบบเดียวกันลายเดียวกันเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงลวดลายที่กดประทับมักจะสวยงาม และที่จะซ้ำลายกันนั้นหาได้ยากยิ่ง


แม้ชิงไป๋ จะถูกผลิตจากหลากหลายเตา อาทิ กลุ่มเตาเต๋อฮว่า และหยงชุน แต่ตลับใบนี้ผลิตขึ้นที่เตาจิ้งเต๋อเจิ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ตลับชิงไป๋ขนาดใหญ่รูปทรงแปดเหลี่ยมนี้ ด้านข้างของตัวตลับและฝาเซาะเป็นร่องเล็กๆรอบใบ ฝาตลับด้านบนกดประทับเป็นลวดลายมีช่อดอกไม้ปักอยู่ในแจกัน ส่วนเฉดสีนั้นแม้เนื้อดินจะสีขาว แต่น้ำเคลือบที่ทำออกมาเป็นสีฟ้าอมเขียว (Blue Greenish) ทำให้ตลับดูเหมือนเนื้อหยกล้ำค่า

Commentaires


bottom of page