top of page
  • Black Facebook Icon
  • Black Instagram Icon
  • Youtube
  • Black Pinterest Icon

ปลาในสระบัว..โมทีฟที่เกิดจากการถกเถียงของสองจอมปราชญ์

  • รูปภาพนักเขียน: Artemis
    Artemis
  • 7 ก.พ. 2567
  • ยาว 1 นาที

ในสมัยรัชศกจักรพรรดิ์เจียจิ้ง (ค.ศ. 1522–1566) มีโถลายสีหวู่ฉ่าย (Wucai) ที่ถือเป็นเอกลักษณ์แห่งยุค สิ่งที่โดดเด่นนอกจากสีสันที่คอนทราสท์แล้ว ยังมีที่มาของลวดลายจากความหมายในเชิงปรัชญาอันลึกซึ้งแฝงอยู่


ย้อนไปเมื่อ 2,300 ปี ตรงกับยุคจั้นกว๋อ (战国)  มีจอมปราชญ์จีนที่ชื่อว่า จวงจื่อ (莊子 ประมาณ 369-286 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญแห่งลัทธิเต๋า อันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ในยุคนั้นยังมีนักปรัชญาร่วมสมัยอีกท่านนามว่า ฮุ่ยจื่อ (惠子 ประมาณ 370 - 310 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นสหายของจวงจื่อแต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันมาก


ฮุยจื่อกับจวงจื่อมีประเด็นถกกันอยู่เนืองๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ประเทืองปัญญาดังเช่นเรื่อง การโต้แย้งหาวเหลียง (濠 梁之辯)  ความมีอยู่ว่า  วันหนึ่งจวงจื่อกับฮุ่ยจื่อเดินเที่ยวบนสะพานข้ามแม่น้ำหาว (濠水) ระหว่างนั้นจวงจื่อมองเห็นปลาในแม่น้ำ จึงกล่าวว่า “ปลาว่ายน้ำอย่างอิสระและผ่อนคลาย นี่ก็คือความสุขของปลา”

ฮุ่ยจื่อถามว่า “ท่านไม่ใช่ปลา เหตุใดท่านทราบว่าปลามีความสุข"

จวงจื่อตอบว่า “ท่านไม่ใช่ข้า ท่านทราบได้อย่างไรว่าข้าไม่หยั่งรู้ความสุขของปลา”

ฮุ่ยจื่ออธิบายว่า “ข้าไม่ใช่ท่าน จึงไม่ทราบความรู้สึกของท่าน ท่านไม่ใช่ปลา ท่านจึงไม่อาจหยั่งรู้ความสุขของปลา นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้”

จวงจื่อพูดสวนทันควันว่า “โปรดย้อนไปยังประเด็นแรกซึ่งเราเริ่มต้นสนทนา เมื่อท่านตั้งคำถามในทำนอง “เหตุ ใดท่านทราบว่าปลามีความสุข” นั่นก็คือคำถามที่อิงสมมติฐานว่า ท่านรับรู้แล้วว่าข้าหยั่งรู้ความสุขของปลา หากถามว่า ทราบมาจากที่ไหน ขอบอกว่า ข้าทราบจากริมแม่น้ำนี่แหละ"

การโต้แย้งหาวเหลียง


เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในหนังสือ “จวงจื่อ สายน้ำแห่งฤดูใบไม้ร่วง” 《庄子.秋水篇) โดยฮุ่ยจื่อหยิบยกประโยคที่ว่า “ 非魚安知魚之樂” (คุณไม่ใช่ปลา คุณทราบความสุขของปลาได้อย่างไร) เพื่อสื่อสารความคิดเชิงตรรกะว่า “คุณไม่ใช่ บุคคลที่คุณกำลังพูดถึง คุณจะทราบความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นได้อย่างไร” ทุกวันนี้คนจีนมักใช้ประโยคดังกล่าวสอน สั่งหรือตักเตือนว่า “ไม่ควรตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองหรือความคิดของตัวเอง” หลักคิดของจวงจื่อนี้คล้ายคำสอนของขง จื่อ (孔子 551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่ว่า “สิ่งที่ตนไม่ปรารถนา จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่น” (己所不欲,勿施於人)


จากประเด็กถกเถียงของทั้งสองปราชญ์ โดยเฉพาะ ‘จวงจื่อ’ ที่เข้าใจลึกซึ้งถึงสัญชาตญาณ หรือสหัชญาณที่เกิดขึ้นเองในใจโดยธรรมชาติ ทำให้จักรพรรดิ์เจี่ยจิ้งที่มุ่งฝักใฝ่เต๋าอยู่เป็นทุนเดิมได้นำเรื่องราวของ “ปลาในสระบัว” (Fish In Lotus Pond) มาเป็นโมทีฟในเครื่องลายครามและลายสี



ชามลายครามยุค เจียจิ้ง-ว่านลี่ ใบนี้เป็นลาย ปลาในสระบัว ตัวปลาที่เขียนตรงกลางชามด้านใน เป็นลาย 'ปลาคาร์ฟ’ กระโดดเหนือน้ำ(ตามคติกระโดดขึ้นไปสู่ประตูมังกร)

ปลาที่นิยมวาดในยุคนั้นจะเป็นปลาแม่น้ำเช่น ปลาคาร์ฟ และปลากระพงจีน 



อ้างอิงข้อมูล

Comments


bottom of page