ลายครามหมิง 'สามสหายแห่งเหมันตฤดู'
- Artemis
- 6 ม.ค. 2567
- ยาว 1 นาที
ในวัฒนธรรมจีน ต้นสน ต้นไผ่ และ ต้นเหมย หรือที่เรียกว่า "岁寒三友" (ซุ่ยหานซานโหย่ว) หรือ "สามสหายแห่งเหมันตฤดู" เป็นที่ชื่นชอบและยกย่องมาช้านาน ต้นไม้ทั้งสามนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถคงความมีชีวิตชีวาได้แม้ในฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ เปรียบเสมือนมิตรสหายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขยืนหยัดเคียงข้างกันรอคอยฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง

* ต้นสน (松树) เป็นสัญลักษณ์ของ ความอดทน และ ความมีอายุยืนยาว เปรียบเสมือนจิตใจที่ยืนหยัดไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

* ต้นไผ่ (竹子) เป็นสัญลักษณ์ของ ความจงรักภักดี และ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เปรียบเสมือนผู้ที่มีจิตใจดีงาม ยึดมั่นในคุณธรรม

* ต้นเหมย (梅花) เป็นสัญลักษณ์ของ ความบริสุทธิ์ ความสูงส่ง และ ความมุ่งมั่น เปรียบเสมือนผู้ที่มีจิตใจผ่องใส มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย
ภาพวาดหรือรูปภาพของ "สามสหายแห่งเหมันตฤดู" มักถูกนำไปใช้เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน สถานที่ต่างๆ หรือใช้เป็นลวดลายบนเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคล

สามสหายแห่งฤดูหนาว โดยจิตรกร Zhao Mengjian ราชวงศ์ซ่ง
นอกจาก "สามสหายแห่งเหมันตฤดู" แล้ว ยังมีพรรณไม้มงคลอื่นๆ อีกมากมายในวัฒนธรรมจีน เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกกล้วยไม้ ดอกบัว ฯลฯ ดอกไม้เหล่านี้มักถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของความดีงามต่างๆกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนใฝ่ฝันและประพฤติตนตาม
"สามสหายแห่งเหมันตฤดู" ไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้ธรรมดา แต่เป็นตัวแทนของคุณธรรมอันสูงส่งที่ชาวจีนเคารพยกย่อง การเรียนรู้และเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์เหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมจีนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เครื่องถ้วยลายครามชิ้นนี้ภายนอกนอกเขียนลาย"สามสหายแห่งเหมันตฤดู"(tree friends of winter) ขอบปากบาน เนื้อบางละเอียดน้ำเคลือบใสสะอาดออกกระแสฟ้า ครามท่ีใช้สวยสดออกสีน้ำเงินเข้ม ฝีมือการวาดปราณีตสวยงาม แต่ที่สำคัญและทำให้ชามใบนี้มีความพิเศษคือการดัดอักษรมงคล (Auspicious Words) ที่เกิดขึ้นโดยเริ่มที่ยุคจักรพรรดิ์เจียจิ้งจนไปถึงว่านลี่ โดยทั้งสามต้นนั้นตัวลำต้นจะถูกวาดดัดเป็นอักษรจีน ที่อ่านว่า 'shòu' (壽) ที่แปลว่าอายุยืนยาว (Longevity) ปลูกอยู่บนกระถาง ภายในชามเป็นผลทับทิม (石榴) บนกระถางวาดเป็นอักษรเดียวกัน ภายในชามวาดเป็นกิ่งดอกไม้3กิ่งสลับกับแมลงปอ
ใต้ฐานมีตัวอักษรจีนหกตัว “ต้าหมิง หล่งชิง เหนียนชิ” (พระเจ้าหล่งชิงแห่งราชวงศ์หมิงอันยิ่งใหญ่สั่งให้ทำ) ผลิตขึ้นที่จิงเต๋อเจิ้นในสมัยพระเจ้าหล่งชิง (ค.ศ.1567-1572) ขนาดกว้าง 12.5 ซม.

ชามใบนี้เป็นเครื่องถ้วยบรรณาการจากจีน ทำขึ้นในช่วง 25 ปีท่ีสามของคริสต์ศตวรรษที่16 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าหล่งชิ่งตามตัวอักษรท่ีเขียนไว้ใต้ฐาน ความปราณีตสวยงามบ่งบอกถึงฝีมือช่างหลวงของจีน ส่งมาเป็นบรรณาการตอบแทนยังพระมหาธรรมราชา(พ.ศ.2112-2123) (ค.ศ.1569-1580) พระมหากษัตริย์สยามในขณะนั้น
Comments